วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สัมพันธภาพที่จำเป็นระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

สัมพันธภาพที่จำเป็นระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

              ในบรรดาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยต่างๆ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ราบรื่นได้ค่อนข้างยาก เพราะลูกเติบโตขึ้นมากเริ่มมีความคิด ความอ่านเป็นของตัวเอง โต้เถียงพ่อแม่ตามเหตุผลหรือประสบการณ์ของเขาเอง และไม่ค่อยเชื่อฟัง ทำให้พ่อแม่ต้องใช้มาตรการกดดัน เช่น ตัดสิทธิ ไม่พูดด้วย หรือหมดหนทางก็คิดว่าปล่อยเขาไป เขาโตแล้ว ทำให้เสียสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น และลูกเองก็รู้สึกขาดที่พึ่งพา แต่สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้ลูกได้ รับความรักความอบอุ่นและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าซึ่งเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆแล้ว สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นยังเป็นช่องทางสำคัญสำหรับพ่อแม่ที่จะอบรมสั่งสอน ตักเตือน ปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและป้องกันปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นความกังวลของพ่อแม่ได้ด้วย หากพ่อแม่มีแนวทางที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไว้ ก็จะช่วยให้ลูกได้ผ่านพ้นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ดี

             พ่อแม่ส่วนใหญ่เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นอย่างดี เพราะผ่านพ้นมาก่อน แต่การปฏิบัติตนของพ่อแม่อาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัยที่ให้สิทธิลูกในการพูดคุยแสดงความรู้สึกและคิดเห็น หลักการสำคัญที่พ่อแม่ควรใช้กับลูกวัยรุ่นในยุคสมัยนี้คือ
  1. การยืดหยุ่นและให้อภัย บางครั้งวัยรุ่นอาจจะมีท่าทีเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายกับพ่อแม่ ตามอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ลูกวัยรุ่นทำทุกอย่างที่พ่อแม่ต้องการได้ค่อนข้างยาก บางครั้งวัยรุ่นเองก็มีเหตุผลที่เหมาะสม การตัดสินใจโดยอาศัยความยืดหยุ่นและให้อภัยในธรรมชาติของวัยรุ่นจะช่วยรักษาสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่นได้ดี
  2. วัยรุ่นสมัยนี้ร่างกายใหญ่โต แต่จิตใจยังมีบางส่วนที่เป็นเด็กอยู่ ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรคาดหวังว่าวัยรุ่นจะทำอะไรได้สมบูรณ์แบบเหมือนผู้ใหญ่
  3. สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อกับแม่ จะทำให้บรรยากาศในบ้านเป็นสุข และทำให้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลุกวัยรุ่นเกิดขึ้นได้ง่าย
องค์ประกอบที่จำเป็นของสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่นมีดังนี้
  1. ความรัก วัยรุ่นต้องการความรักเช่นเดียวกับลูกวัยอื่นๆ วัยรุ่นที่ขาดความรักจะรู้สึกเหงา ว้าเหว่ แสวงหาความรักจากที่อื่น
  • พ่อแม่ที่คิดว่าลูกโตแล้วฝากความหวังและเงื่อนไขความสำเร็จไว้กับลูก ควรเป็นความหวังที่เป็นจริงตามความสามารถของวัยรุ่น ความหวังในระดับนี้จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่ทำให้วัยรุ่นพัฒนาตนเองให้เกิดความสำเร็จได้ 
  • การแสดงความรักต่อวัยรุ่นยังเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนลูกวัยอื่นๆ เพียงแต่ควรเป็นไปในลักษณะที่เหมาะสมกับวัย
  • พ่อแม่ต้องพร้อมและมีความจริงใจที่จะให้เวลาในการพูดคุย ทำความเข้าใจให้เกิดความสนิทสนม นอกจากนี้พ่อแม่ควรมีความสมดุลในการปฎิบัติตัวต่อลูก ไม่ปกป้องห่วงใยลูกมากจนลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถและไม่ทอดทิ้งให้ลูกแก้ปัญหาเองทุกอย่างจนลูกรู้สึกขาดความรักความอบอุ่น
  2. การพุดคุยกับลูกวัยรุ่น วัยรุ่นจะเบื่อหน่ายและไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่ถ้าการพูดคุยทุกครั้งเป็นการอบรม สั่งสอน หรือย้ำเตือนถึงอันตรายในสิ่งที่พ่อแม่วิตกกังวล การพูดคุยเช่นนี้ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตนเอง เป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ เอาตัวไม่รอด และวัยรุ่นจะมองพ่อแม่ว่ามองโลกในแง่ร้าย ไม่ทันสมัย เทคนิคที่พ่อแม่อาจจะนำไปใช้ในการพูดคุยกับลูกได้แก่
  •  การเปิดโอกาสให้ลูกพูดคุยถึงประสบการณ์ในแต่ละวัน ในส่วนประสบการณ์ที่น่าสนใจพ่อแม่อาจจะตั้งคำถามให้ลูกได้เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น
  • ยกเหตุการณ์ในสังคม ตั้งประเด็นคำถามเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็นและให้เหตุผล ทั้งนี้บรรยากาศในการพูดคุยควรเป็นกันเอง สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด
  • พ่อแม่อาจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเล่าถึงประสบการณ์การเป็นวัยรุ่นในอดีต โดยเฉพาะส่วนที่คล้ายคลึงกับวัยรุ่นสมัยนี้
     3.   การจัดการกับความโกรธ การพูดคุยสื่อสารกันย่อมมีความขัดแย้งกันเป็นธรรมดา
  • ในส่วนของพ่อแม่ควรพยายามสงบความโกรธให้ลดลงบ้าง และกลับมาพูดคุยกับลูกใหม่เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อม 
  • ในส่วนของวัยรุ่น พ่อแม่ส่วนใหญ่พยายามสอนลูกให้เก็บกดความโกรธด้วยวิธีการต่างๆ
  • สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกในเรื่องของความโกรธ ทำอย่างที่พ่อแม่สอนลูก จะทำให้ง่ายสำหรับลูกที่จะรับฟังและทำตาม ซึ่งผลดีที่ตามมาคือ ความเข้าใจและความเคารพนับถือที่ลูกวัยรุ่นจะมีต่อพ่อแม่มากขึ้น 
  • บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่พอใจพฤติกรรมของวัยรุ่นและหาทางจะปรับปรุงด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ การเตือนด้วยความหวังดีเป็นวิธีการที่ลูกวัยรุ่นยอมรับได้ดี แต่พ่อแม่ควรมีวิธีการเตือน รวบรวมเหตุผลที่ดีที่ลูกยอมรับได้ หาเวลาที่พ่อแม่พร้อมที่จะพูดและลูกพร้อมที่จะฟัง พูดกันให้เป็นที่เข้าใจ พ่อแม่อย่าพูดวันละนิดวันละหน่อยให้ลูกไปปะติดปะต่อเอาเอง ลูกจะคิดว่าพ่อแม่บ่นให้ฟัง ทั้งๆ ที่ในความคิดของพ่อแม่นั้นพ่อแม่ได้เตือนแล้ว 
            ในสังคมไทย การอบรมเลี้ยงดูลูกมักจะเป็นไปในลักษณะของการโอบอุ้ม ซึ่งพ่อแม่จะให้ความใส่ใจโดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็ก พอเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่ก็มักจะปล่อยให้ลูกดูแลตัวเอง พ่อแม่สนับสนุนด้านการศึกษาและเงินทองเป็นหลัก ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เป็นกังวลกับลูกวัยรุ่นที่จะต้องเผชิญกับปัญหาสังคมภายนอกครอบครัว การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นเป็นวิธีการหนึ่งที่พ่อแม่จำเป็นต้องใช้ นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการศึกษาและเงินทองหรือปล่อยให้ลูกดูแลตัวเอง 



อ้างอิง : http://www.geocities.ws/kularptip/art8.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น