วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

'สื่อสาร' เปิดใจพ่อแม่ และลูกวัยรุ่น

'สื่อสาร' เปิดใจพ่อแม่ และลูกวัยรุ่น

/data/content/23467/cms/fhjlqxy12379.jpg
          
             ในหลายครอบครัว "พ่อแม่กับลูกวัยรุ่น" เปรียบเสมือนลิ้นกับฟันที่เกิดการ กระทบกระทั่งกันได้ง่าย ปัญหาหลายอย่างมีความอ่อนไหว เปราะบาง นักจิตวิทยาและผู้ทำงานด้านครอบครัวมีระบุถึงสาเหตุพร้อมคำแนะนำเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน

             ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ปธ.โครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มศว. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากปัญหาบุคลิก ภาพของตัวเด็กเองหรือแม้แต่ครอบครัว ความเก็บกดเกิดจากสิ่งที่ต้องการนั้นไม่ได้ตามใจหวัง จึงเก็บความรู้สึกอันนี้ไว้ วันดีคืนดีอาการเก็บกดก็ระเบิดออกมา

             "ครอบครัวที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ ครอบครัวที่มีการคาดหวังสูง อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกกดดันหรือถูกเปรียบเทียบ ทำให้รู้สึกเก็บกด เช่น พี่ดีกว่าน้อง น้องดีกว่าพี่ เมื่อเก็บความรู้สึกและรู้สึกเก็บกดไปเรื่อยๆ จะเกิดจังหวะหุนหันพลันแล่น ถ้าบุคคลนั้นมีอาการเงียบ อาจเป็นเพราะเขาไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้ เช่น ในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่มีเด็กวัยรุ่นกราดยิงเด็กตายทั้งโรงเรียน หากกลับไปย้อนดูประวัติของเด็กที่กระทำจะเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่มีพิษภัยอะไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเด็กอาจจะไม่มีการแสดงออกหรือไม่กล้าแสดงออก แต่เก็บอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ เพราะในชีวิตจริงไม่มีการระบายออกทางอารมณ์"

              จากข่าวของเด็กรายนี้ เกิดความจำที่ฝังใจว่าแล้วทำไมบอกแบบนี้ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้ รู้สึกเจ็บใจและเสียใจจึงต้องการทำอะไรบางอย่าง บางคนอาจใช้วิธีประชด หลังจากกระทำแล้วจะเกิดความรู้สึกผิด

             "ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นของเหตุการณ์นี้คือสุรา ถ้ามีปัญหาก็จะกินเหล้า บางจังหวะจึงไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้สิ่งที่เก็บไว้ภายในใจที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คิดเล็กคิดน้อย เมื่อมีสุรามากระตุ้นจึงเป็นเหตุให้ระเบิดอารมณ์เพิ่มมากขึ้น"
              วิธีการแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคือสิ่งที่เก็บกดนั้นต้องผ่อนคลายและระบายออก ทำได้หลายทาง เช่น การพูดโดยตรงกับเพื่อนหรือคนที่สนิทไว้ใจได้ หรือจะนำพลังที่กำลังเก็บกดไปใช้ในทางสร้างสรรค์ เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น เอาชนะคำสบประมาท
/data/content/23467/cms/bcfkmns24568.jpg
          
            นายวันชัย บุญประชา เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว พูดถึงการสื่อสารว่า เป็นการแสดง ออกถึงสิ่งที่เรารู้สึกในใจ โดยปกติพ่อและแม่หรือครอบครัวที่มีลูกจะรู้สึกห่วงใยลูก อยากให้ลูกมีการเจริญเติบโตที่ดี เขาจะแสดงออกด้วยการสื่อสาร

            ซึ่งการสื่อสารแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
 1. การสื่อสารแบบให้กำลังใจ ชื่นชมในสิ่งที่ลูกทำดี ถือว่าสื่อสารเชิงบวก
 2. การสื่อสารด้วยการตำหนิ ดุด่า เพื่อให้ลูกปรับปรุงหรือทำในสิ่งที่เห็นว่าดี ถือเป็นความหวังดีของพ่อแม่ แต่ลูกจะรู้สึกว่าการที่ตัวเองถูกตำหนิคือตัวเองไม่มีคุณค่า ลักษณะนี้เป็นการสื่อสารเชิงลบ
3. การเพิกเฉย ไม่มีการสื่อสารเมื่อลูกทำดีหรือทำผิด พ่อกับแม่เงียบ ลูกก็ไม่มีวันรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด ทั้ง 3 ลักษณะเป็นความหวังดีของพ่อแม่ที่ลูกอาจจะไม่เข้าใจ ไปเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่สนใจ เป็นมูลเหตุสำคัญต่อพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา

            ส่วนการที่บางครอบครัวพยายามสร้างความไว้วางใจด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูพฤติกรรมลูก หลายครอบครัวทำแบบนี้เมื่อพ่อแม่ไม่แน่ใจในพฤติกรรมลูก หรือเป็นห่วงว่าลูกจะอยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ชนชั้นกลางส่วนมากจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเอาไว้ดูลูกเล็กๆ แต่สำหรับเด็กโตอาจเกิดความไม่ไว้วางใจของพ่อแม่ อันนี้ต้องคุยกับลูกให้ดี โดยเฉพาะลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ต้องเห็นชอบร่วมกันทั้งพ่อแม่และเด็ก

            การติดตั้งกล้องวงจรปิดไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ การสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าไม่ไว้ใจเรื่องใดก็สื่อสารแล้วสร้างกติการ่วมกัน
  
            ขณะเดียวกันการที่เด็กเติบโตมามี 2 ปัจจัย คือ 
 1. เติบโตมาโดยเรียนรู้แบบเห็นอารมณ์ความรู้สึกเยอะ เช่น ดูละครหรือสื่อต่างๆ แล้วซึมซับมา ลักษณะนี้ถ้าเด็กถูกกระตุ้นความรู้สึกเยอะจะไม่ใช้เหตุผลแก้ปัญหา
2. การเติบโตมาโดยเรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ถ้าพ่อแม่กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น เด็กจะเติบโตอย่างมีเหตุผล ดังนั้นผู้ปกครองต้องค่อยๆ ให้เด็กใช้เหตุผล โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่ต้องสอนให้ดูแลอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ขณะที่เด็กก็ต้องฝึกเรื่องความคิดถึงเหตุและผล เพื่อให้มีเวลาตั้งสติมากขึ้น เพราะอารมณ์โกรธสำหรับเด็กเกิดขึ้นได้ตลอด


               พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พูดถึงการสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นว่า มีความพิเศษกว่าปกติ เพราะเด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร วัยรุ่นจะมีพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าเดิม การสื่อสารระหว่างกันโดยไม่ให้เกิดปัญหา การฟังซึ่งกันและกันจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจได้มากที่สุด พ่อแม่จำเป็นต้องปรับตัวมากกว่าเดิม เพราะเด็กเล็กพ่อแม่ใช้วิธีสอนและสั่ง แต่เด็กที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นการใช้วิธีดูแลแบบเด็กๆ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันแย่ลง โดยเฉพาะการใช้คำสั่ง การไม่ปล่อยให้เด็กได้แสดงออกหรือมีพื้นที่ส่วนตัว

               "การที่พ่อแม่ไม่รับฟัง ไม่รักษาระยะห่าง ดูแลลูกใกล้ชิดจนไม่เหลือพื้นที่ส่วนตัว ใช้วิธีออกกฎบังคับจะทำให้เด็กต่อต้านหลายแบบ ทั้งแสดงออกด้วยความก้าวร้าว หรือเงียบแต่ไม่ทำตาม และปฏิบัติ

                 ตัวออกนอกกฎที่วางไว้เสมอๆ แต่หากพ่อแม่ปล่อยลูกอิสระมากจนเกินไปจนไม่สามารถรู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับลูกเลย ก็จะทำให้ลูกห่างออกไปและไปปรึกษาคนอื่นแทน"

                 การสื่อสารในครอบครัวเมื่อมีลูกวัยรุ่นพ่อแม่ต้องเป็นผู้รับฟัง ให้โอกาสลูก ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ อธิบายถึงเหตุผล เช่น หากลูกต้องการสิ่งของหนึ่งอย่าง และพ่อแม่มองว่ายังไม่ควรซื้อหรือมีเหตุผลที่ซื้อให้ไม่ได้ จำเป็นต้องอธิบายสาเหตุและมีทางเลือกให้ลูกร่วมตัดสินใจด้วยกัน

                นอกจากนี้พ่อแม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยการสังเกตความผิดปกติของลูก เช่น การเก็บตัว ไม่ร่าเริง เมื่อมีปัญหาพ่อแม่สามารถร่วมจัดการได้โดยใช้การรับฟังปัญหา ไม่ใช่สั่งสอนเพียงอย่างเดียว และไม่ก้าวล้ำความเป็นส่วนตัว

                สำหรับเด็กที่ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นบางครั้งจะทำให้มั่นใจในสิ่งที่ทำจนลืมคิดไปว่า ประสบการณ์ ของตัวเองในการประเมินผลกระทบของเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลต่ออนาคตนั้นยังมีอยู่น้อยและอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าความคิดและความรับผิดชอบของตัวเองนั้นมีความเสี่ยง การรับฟังผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน

                 ฉะนั้นในครอบครัวจึงต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดของตัวเอง มีเหตุผลสำหรับการตัดสินใจในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน การรับฟังซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด



อ้างอิง : http://www.thaihealth.or.th/Content/23467-'%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3'%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%20%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น