ความคาดหวังของพ่อแม่ไม่มีที่สิ้นสุด..!!
จำบรรยากาศของวินาทีแรกที่ได้เห็นลูกเกิดได้ไหมคะ… ความยินดี ความปลื้มปีติเป็นเช่นไร ดิฉันเชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนจะลืมวินาทีนั้นได้
ความคาดหวังแรกของคนเป็นพ่อแม่ในช่วงเวลานั้น คือ การภาวนาขอให้ลูกเกิดมาอยู่รอดปลอดภัยก็เพียงพอแล้ว และเมื่อลูกมีอวัยวะของร่างกายครบถ้วน เป็นปกติทุกประการ ความโล่งใจ ความสุขก็เกิดขึ้นกับคนเป็นพ่อแม่ความคาดหวังครั้งนั้น แลดูน่าจะเป็นครั้งสำคัญที่สุดที่ปีติกับการเกิดอยู่รอดปลอดภัย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกเริ่มเติบโตขึ้นในแต่ละวัน ความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ก็ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับลูกด้วย ความคาดหวังสอง สาม สี่…ตามมาเป็นลำดับ
ช่วงวัยทารก อยากให้ลูกมีพัฒนาการรอบด้าน นั่ง คืบ คลาน ยืน เดิน พูด ฯลฯ เป็นไปด้วยความเร็ว เก่ง เด่น เมื่อเข้าสู่วัยเรียน อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนชื่อดัง อยากให้มีความพิเศษ ถ้าไม่พิเศษ ก็ต้องเสริมการเรียนพิเศษกันอุตลุต
พอเข้าสู่วัยรุ่น อยากให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง อยากให้ลูกเป็นหมอ หรือประกอบอาชีพที่พ่อแม่คิดว่าน่าจะดีสำหรับลูก พอลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อยากให้ลูกทำงานที่ดี บริษัทมั่นคง มีชื่อเสียง มีเงินเดือนสูงๆ และเมื่อลูกเข้าสู่วัยที่พร้อมจะสร้างครอบครัว ก็อยากให้ลูกมีคู่ครองที่ดี มีฐานะมั่นคง มีเงินทองมั่งคั่ง และเมื่อมีลูก ก็อยากให้หลานได้ดี อยากให้…ฯลฯ
วงจรของความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่แทบจะไม่เคยสิ้นสุด..!!
จริงอยู่…เราอาจจะได้ยินคำตอบของความคาดหวังของพ่อแม่ว่าขอเพียง “อยากให้ลูกเป็นคนดี” “อยากให้ลูกมีความสุข” แต่พอเอาเข้าจริง สุดท้ายความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่ก็มักแปรสภาพไปตามกระแสอยู่เสมอๆ และความหมายของการเป็นคนดีหรือมีความสุขก็จะขึ้นอยู่กับสายตาของพ่อแม่
เงื่อนไขของความสุข ก็อาจจะเริ่มว่า “ถ้าลูกเรียนเก่ง เรียนดี ในอนาคตก็จะมีงานดีๆ ทำ และเมื่อมีงานทำ ก็จะได้เงินเยอะๆ และเมื่อมีเงินเยอะๆ ก็สามารถจะหาซื้ออะไรก็ได้ ก็จะมีความสุข” หรือเงื่อนไขของความดี ก็อาจจะเริ่มที่ “การเชื่อฟังพ่อแม่ คือเด็กดี การเรียนหนังสือเก่งๆ เป็นเด็กดีของพ่อแม่” โดยหารู้ไม่ว่า เงื่อนไขบนความคาดหวังที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพ่อแม่จะนำไปสู่อะไรในตัวลูกบ้าง เด็กบางคนสามารถปรับตัวได้ และพร้อมเปิดรับความคาดหวังจากพ่อแม่ได้ก็ไม่มีปัญหา แต่เด็กที่ไม่สามารถแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่ได้ก็มีไม่น้อย ท้ายสุดเด็กเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร
เราเองก็เคยพบเห็นข่าวคราวในท่วงทำนองที่เด็กจำนวนไม่น้อยต้องตัดสินใจเลือกหนทางชีวิตผิดพลาด เพียงเพราะไม่สามารถแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่ได้ บางคนถึงขั้นกลายเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็นมาแล้ว เมื่อปี 2542 มีการปฏิรูปการศึกษาในบ้านเรา ทำให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาในปีนั้น ที่ต้องการให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ด้วยปรัชญาการศึกษาให้เด็กทุกคนเป็น “เด็กเก่ง ดี และมีสุข”
กระแสการเรียงลำดับตามแนวทางดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ปรารถนาสร้างลูกให้เป็นเด็ก “เก่ง” เต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนเรื่องความดีและมีความสุขกลายเป็นเรื่องค่อยว่ากันภายหลัง ขอให้ลูกเก่งก่อนละกัน เราจึงได้เห็นกระแสเด็กแข่งกันเรียนพิเศษกันเอาเป็นเอาตาย
ทั้งที่แท้จริงแล้วเรื่องความสุขน่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในลำดับแรกของชีวิต เพราะความสุขจะนำไปสู่ การใช้ชีวิตในทุกด้าน ผลของความสุขนำไปสู่อะไร คนเราเมื่อมีความสุข จะหลั่งสารแห่งความสุขที่ชื่อ Endorphins (เอ็นดอร์ฟิน) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการเสริมพลังด้านบวก (Positive reinforcement) โดยปริมาณของสารเอ็นดอร์ฟินในพลาสมามีความสัมพันธ์กับความรู้สึกสบาย มีความสุข อารมณ์ดี และนำไปสู่การมีสุขภาพดี
พ่อแม่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างความสุขให้ลูก
เริ่มจากการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด การมอบความรัก ความอบอุ่น เมื่อเด็กอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่มีความสุข ผลที่ตามมา เด็กจะเกิดความมั่นคงทางด้านจิตใจ จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดความรักความอบอุ่น ความสุขของเด็กง่ายๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กแค่ได้ดูดนมแม่ ได้หัวเราะ เล่นกับพ่อแม่ เขาไม่ได้ต้องการของเล่นราคาแพง อาหารชั้นดี เสื้อผ้าทันสมัย
เมื่อเติบโตขึ้นความสุขของเด็กจะมีเงื่อนไขมากขึ้น ความอยากได้สิ่งของมากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ถ้าช่วงเวลาเหล่านั้น พ่อแม่ปลูกฝังนิสัยให้ลูกเรื่องความสุขจากการได้ “รับ” ที่เหมาะสม เพราะเขาเป็นผู้รับมาโดยตลอด โอกาสที่เขาจะติดใจและติดนิสัยก็เป็นไปได้ ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถสร้างความสมดุลตั้งแต่เด็กได้ ลูกอาจจะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรต้องได้ เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของความรัก
แต่กระนั้น ก็มีความจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูกด้วย เพราะเมื่อเขายังไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เขาจะร้องไห้อย่างเดียว แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานกับลูก ด้วยความเข้าใจว่ากลัวลูกจะเอาแต่ใจตัวเองในเวลาที่ไม่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมตรงกันข้ามเช่นกัน
พ่อแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเมื่อถึงวัยหนึ่ง ลูกจะชอบเลียนแบบพ่อแม่ เราจึงควรถือโอกาสนี้แสดงบทบาทเป็นผู้ “ให้” เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกทำตาม เช่น สอนให้ลูกรู้จัก “ให้” รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่น
เริ่มจากการให้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกมี แบ่งปันให้กับผู้อื่น เช่น แบ่งขนม ของเล่นให้ผู้อื่น เมื่อลูกให้แล้วก็ควรกระตุ้นให้ลูกเข้าใจความรู้สึกดีๆ ของการเป็นผู้ให้ ซึ่งนั่นจะทำให้จิตใจของลูกเกิดการรับรู้ การทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยการให้นั้นมีอยู่จริง เพราะเด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้ง่ายที่สุดจากคนใกล้ตัว หลังจากนั้นจึงเริ่มเผื่อแผ่การ “ให้” สู่คนอื่นๆ
การสร้างรากฐานเรื่องการ “รับ” และการ “ให้” จากด้านในของจิตใจ จะทำให้ลูกเรียนเรื่องคุณค่าทางจิตใจ การมีความสุขอย่างแท้จริงคืออะไร ถ้าเราแปรเปลี่ยนความคาดหวังในตัวลูกให้กลายมาเป็นการเห็นคุณค่าจากความสุข มีความสุขที่ได้เล่น มีความสุขที่ได้เรียน มีความสุขในการใช้ชีวิต มีความสุขในการแบ่งปัน มีความสุขในการเป็นผู้ให้ มีความสุขในทุกวัน
ความคาดหวังเรื่องความสุข จะไม่นำไปสู่ความกดดันในชีวิต
แต่…ด้วยสิ่งเร้าในโลกสังคมทุนนิยมทุกวันนี้ พ่อแม่จำนวนมากตกเข้าไปอยู่ในกับดักของความคาดหวังในตัวลูกจำนวนมาก
ความสุขของพ่อแม่ก็จะแกว่งไป ระหว่าง การได้เห็นลูกมีความสุข หรือการได้เห็นลูกเรียนเก่ง อย่าใช้ความคาดหวังสิ้นเปลือง และคาดหมายในตัวลูกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเลยค่ะ
เมื่อใดความคาดหวังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขอให้กลับไปนึกถึงวันแรกที่คลอดเขาออกมา สิ่งที่คาดหวังในห้วงเวลานั้นขอเพียงให้เขาปลอดภัยก็เพียงพอแล้วมิใช่หรือ…!!
อ้างอิง: http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000057904
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น